สิ่งที่ต้องรู้เมื่อเป็นห้างหุ้นส่วน

7368 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สิ่งที่ต้องรู้เมื่อเป็นห้างหุ้นส่วน

สิ่งที่ต้องรู้เมื่อเป็นห้างหุ้นส่วน
ห้างหุ้นส่วน คือ การที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตกลงทำการค้าร่วมกันเพื่อแสวงหาผลกำไร และแบ่งผลกำไรจากการดำเนินกิจการ ผู้เป็นหุ้นส่วนสามารถลงหุ้นด้วย เงิน ทรัพย์สิน หรือแรงงานก็ได้ ถ้าลงหุ้นด้วย ทรัพย์สิน หรือแรงงาน ต้องตีราคาเป็นจำนวนเงิน

ห้างหุ้นส่วนมี 2 ประเภท คือ

  1. ห้างหุ้นส่วนสามัญ คือ ห้างหุ้นส่วนที่มีผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทเดียวกัน คือ “หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดชอบ” โดยหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันในหนี้สินทั้งหมด  ห้างหุ้นส่วนสามัญจะจดทะเบียนหรือไม่ก็ได้ ถ้าจดทะเบียนจะเรียกว่า  ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล และมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย

  2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด คือ ห้างหุ้นส่วนที่มีหุ้นส่วน 2 ประเภท ได้แก่   หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดชอบ จะมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ (รับผิดชอบไม่เกินจำนวนเงิน ที่ตนลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด)  และหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดชอบจะมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้  (รับผิดร่วมกันในหนี้สินของห้างหุ้นส่วนทั้งหมด)

หุ้นส่วนผู้จัดการจะต้องเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดชอบ
ห้างหุ้นส่วนจำกัดจะต้องจดทะเบียน ถ้าไม่จดทะเบียนถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ

          เมื่อจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนจำกัดแล้ว ห้างหุ้นส่วนจะมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายแยกต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วน และได้รับเลขทะเบียนนิติบุคคล 13 หลัก ซึ่งสามารถใช้เป็นเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของกรมสรรพากรได้

          สำหรับชื่อห้างหุ้นส่วน ถ้าจะนำชื่อไปใช้ในดวงตรา ป้ายชื่อ จดหมาย หรือ เอกสารอย่างอื่นที่ใช้ในธุรกิจของห้างหุ้นส่วน ต้องมีคำว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” “หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด”  ประกอบชื่อ ถ้าใช้เป็นอักษรต่างประเทศ ต้องใช้คำที่มีความหมายว่า “Registered Ordinary Partnership” หรือ “Limited Partnership” ประกอบชื่อ

หน้าที่ของห้างหุ้นส่วน

จัดทำบัญชี

  1. จัดทำบัญชีรายวัน บัญชีแยกประเภท บัญชีสินค้า และบัญชีประเภทอื่น ตามความจำเป็นแก่การทำบัญชี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วน

  2. ต้องจัดให้มีผู้ทำบัญชี เพื่อเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำบัญชีของห้างหุ้นส่วน ซึ่งเป็นผู้ที่จบไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบัญชีหรือเทียบเท่าเป็นผู้ทำบัญชี ยกเว้น ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีทรัพย์สินรวมไม่เกิน 30 ล้านบาท และมีรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท สามารถให้ผู้จบไม่ต่ำกว่าอนุปริญญาหรือเทียบเท่าเป็นผู้ทำบัญชีก็ได้ ซึ่งห้างหุ้นส่วนจะต้องควบคุมดูแลผู้ทำบัญชีให้ตรงต่อความเป็นจริงและถูกต้องตามกฎหมาย

  3. ต้องส่งมอบเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชี ได้แก่ บันทึกหนังสือ หรือเอกสารใดๆ ที่ใช้เป็นหลักฐานในการลงรายการในบัญชี ให้แก่ผู้ทำบัญชีให้ครบถ้วนถูกต้อง เพื่อให้บัญชีที่จัดทำขึ้นสามารถแสดงผลการดำเนินงาน ฐานะการเงิน หรือการเปลี่ยนแปลงฐานะการเงินที่เป็นอยู่ตามความเป็นจริงและตามมาตรฐานการบัญชี

  4. ต้องปิดบัญชีครั้งแรกภายใน 12 เดือน นับแต่วันเริ่มทำบัญชี และปิดบัญชีทุกรอบ 12 เดือน นับแต่วันปิดบัญชีครั้งก่อน เว้นแต่ได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนรอบปีบัญชีจากสารวัตรใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชีแล้ว อาจปิดบัญชีก่อนครบรอบ 12 เดือนก็ได้

  5. จัดทำงบการเงิน ประกอบด้วย งบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุน หมายเหตุประกอบงบการเงิน งบการเงินเปรียบเทียบกับปีก่อน  และต้องจัดให้มีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและแสดงความเห็น เว้นแต่ ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท และมีรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท ไม่ต้องมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบงบการเงิน

  6. เมื่อผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบงบการเงินแล้ว ให้นำส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายในห้าเดือนนับแต่วันปิดบัญชี

  7. ต้องเก็บรักษาบัญชีและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีไว้ที่สำนักงานใหญ่ หรือสถานที่ใช้เป็นที่ทำงานประจำ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันปิดบัญชี แต่ถ้าเอกสารหรือเอกสารประกอบการลงบัญชีสูญหายหรือเสียหาย ต้องแจ้งสารวัตรใหญ่บัญชีหรือสารวัตรบัญชีภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบถึงการสูญหายหรือเสียหาย

การเปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียน
          เมื่อห้างหุ้นส่วนจะเปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียนไม่ว่าจะเป็นเรื่องชื่อของห้างหุ้นส่วน ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ วัตถุประสงค์ และรายการอื่นๆ ที่เห็นสมควรจะให้ประชาชนทราบ  ผู้เป็นหุ้นส่วนจะต้องตกลงให้ความยินยอมด้วยกันทุกคน แล้วให้หุ้นส่วนผู้จัดการยื่นขอจดทะเบียน แก้ไขเพิ่มเติมรายการที่เปลี่ยนแปลงนั้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท

          การเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการ ต้องไปยื่นจดทะเบียนภายใน 14 วัน นับจากวันที่มีการเปลี่ยนแปลง

การเลิกและชำระบัญชี

  1. จัดทำคำขอไปยื่นจดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วนภายใน 14 วัน นับแต่วันที่เลิก และต้องลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ว่าห้างหุ้นส่วนเลิกกัน พร้อมกับส่งจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์แจ้งไปยังเจ้าหนี้ทุกคน

  2. จัดทำงบการเงินส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง แล้วเรียกประชุมผู้เป็นหุ้นส่วนเพื่อรับรองให้ผู้ชำระบัญชีเป็นผู้ชำระบัญชีต่อไป หรือจะแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีใหม่ และอนุมัติงบการเงิน

  3. ถ้ามีการเปลี่ยนตัวผู้ชำระบัญชีใหม่ หรือแก้ไขอำนาจผู้ชำระบัญชี หรือแก้ไขที่ตั้งสำนักงานของผู้ชำระบัญชี  ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงด้วย การจดทะเบียนเปลี่ยนตัวผู้ชำระบัญชี หรือแก้ไขอำนาจผู้ชำระบัญชี ต้องไปจดทะเบียนภายใน 14 วัน นับจากวันที่ได้มีการเปลี่ยนตัวหรือวันลงมติ

  4. จัดทำรายงานการชำระบัญชียื่นต่อนายทะเบียนทุก 3 เดือน เพื่อแสดงความเป็นไปของบัญชีที่ชำระอยู่ และรายการนี้ต้องเปิดเผยให้ผู้เป็นหุ้นส่วน และเจ้าหนี้ทราบด้วย

  5. เมื่อผู้ชำระบัญชีได้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนเสร็จสิ้นแล้ว ต้องทำรายงานสรุปการดำเนินการชำระบัญชีตั้งแต่ต้น แล้วเรียกประชุมใหญ่เพื่อเสนอรายงานและชี้แจงกิจการต่อที่ประชุม เมื่อที่ประชุมได้อนุมัติรายงานนั้นแล้วให้จัดทำคำขอไปยื่นจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีภายใน 14 วัน นับแต่วันที่ประชุมอนุมัติรายงาน ซึ่งเมื่อได้จดทะเบียนแล้วถือว่าห้างหุ้นส่วนนั้นสิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคล

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้